ตอนที่ 3 สุดท้ายแล้ว เราจะสร้างบ้านให้อยู่ได้นานถึง 500 ปี ได้โดยวิธีใด?
โดย ศาสตราจารย์ ชัย จาตุรพิทักษ์กุล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, นายกสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย
สำหรับบทสรุป หากต้องการสร้างบ้านที่มีอายุใช้งาน 500 ปี โดยที่ความเสียหายของบ้าน เกิดจากคอนกรีตและเหล็กเสริมเป็นหลัก (บ้านส่วนใหญ่ที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กในปัจจุบันมักเสียหายในกรณีนี้เป็นส่วนใหญ่) ความเสียหายไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหว หรือ สึนามิ ไม่ได้ตั้งอยู่ในหรือใกล้ทะเล ต้องทำอย่างไรบ้าง ผมมีแนวคิดและข้อแนะนำดังนี้ครับ
1. การออกแบบและก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยเฉพาะเสาตอม่อและเสาชั้นล่างที่ต้องสัมผัสกับดิน หรือตากแดดตากฝน ให้มีขนาดใหญ่กว่าปกติอีก 5-10 ซม. หมายความว่า หากออกแบบแล้ว พบว่าต้องการเสาขนาด 20x20 ซม.2 ก็เพิ่มเป็น 25x25 ซม.2 หรือ 30x30 ซม.2 แทน เพราะที่เพิ่มขึ้นมาจากเดิมอีก 5-10 ซม. ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาเพื่อรับน้ำหนักบรรทุกจรและน้ำหนักบรรทุกคงที่ แต่เพิ่มขนาดเสาให้ใหญ่ขึ้นมา เพื่อให้ทนทานต่อการกัดกร่อนจากก๊าซหรือสารเคมีต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อคอนกรีตและเหล็กเสริม
การเพิ่มขนาดเสาตอม่อหรือเสาคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นล่าง (ซึ่งมักสัมผัสดิน หรือ น้ำใต้ดิน) ทำให้ค่าก่อสร้างและน้ำหนักบรรทุกคงที่เพิ่มขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น แต่ขอเรียนให้ทราบว่าเพิ่มขึ้นไม่มาก โดยทั่วไปมักไม่เกินร้อยละ 5 ของค่าก่อสร้างอาคารทั้งหมด ซึ่งน่าจะคุ้มค่ามากเพราะอายุการใช้งานจะยาวนานขึ้นมาก
2. กำลังอัดของคอนกรีต ในการออกแบบค่ากำลังอัดของคอนกรีตสำหรับบ้านพักอาศัย มักระบุกำลังอัดที่อายุ 28 วันประมาณ 180-240 กก./ซม.2 ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานได้ 50-80 ปี แต่ถ้าต้องการให้อยู่ได้ 500 ปี ต้องใช้กำลังอัดของคอนกรีตเท่ากับ 350-400 กก./ซม.2 ในข้อนี้หมายความว่า กำลังอัดที่ใช้ก่อสร้างในเสาตอม่อและเสาชั้นล่างต้องมีค่าสูงกว่าที่ออกแบบไว้ อาจใช้เฉพาะเสาตอม่อและเสาชั้นล่างเท่านั้น ส่วนคานและเสาชั้นอื่นๆ อาจไม่จำเป็น เพราะมีความเสียหายเนื่องจากการกัดกร่อนต่ำ แต่ถ้าใช้ทั้งหมดย่อมทำให้ความคงทนของอาคารเพิ่มขึ้นแน่นอนอีกหลายสิบหรือร้อยปี
3. ใช้วัสดุปอซโซลาน แทนที่ปูนซีเมนต์บางส่วนในส่วนผสมคอนกรีต ในที่นี้แนะนำให้ใช้เถ้าถ่านหินจากแม่เมาะที่มีคุณภาพชั้นที่ 1 หรือ ชั้นที่ 2 ตาม มอก. 2135 [3] หรือตาม ASTM C 618 [4] แทนที่ปูนซีเมนต์อย่างน้อยร้อยละ 25 โดยน้ำหนักวัสดุประสาน เพื่อลดค่าการซึมของน้ำผ่านคอนกรีต ลดการแทรกซึมของสารละลายคลอไรด์ และการกัดกร่อน เนื่องจากสารละลายซัลเฟต
4. ใช้ระยะคอนกรีตที่หุ้มเหล็กอย่างเหมาะสม มาตรฐานการออกแบบอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กโดยวิธีกำลัง [7] กำหนดให้ใช้ระยะคอนกรีตหุ้มเหล็กที่บริเวณคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อติดดินหรือสัมผัสดินอย่างน้อย 7.5 ซม. ซึ่งในที่นี้มักได้แก่ เสาตอม่อ เสาชั้นล่าง คานคอดิน หรือคานชั้นล่าง เป็นต้น หากเห็นว่ายังน้อยไปอาจเพิ่มเป็น 10 ซม. เพื่อชะลอเวลาการแทรกซึมและการกัดกร่อนให้ใช้เวลานานขึ้น
มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในการหล่อเสาตอม่อ เสาชั้นล่าง หรือคานคอดินที่สัมผัสกับดิน มักพบว่าระยะ คอนกรีตที่หุ้มเหล็กที่ความหนา 1 ซม. แรก มักใช้ไม่ได้ เนื่องจากสัมผัสกับดินเมื่อคอนกรีตมีอายุน้อย ความแข็งแรงต่ำ ดังนั้นการใช้ระยะหุ้มคอนกรีตที่ 10 ซม. จึงดีกว่าที่จะกำหนดใช้ 7.5 ซม. ซึ่งเป็นระยะต่ำสุดที่กำหนดโดยมาตรฐาน ว.ส.ท. 1008 [7]
5. เมื่อเทคอนกรีตเข้าแบบหล่อต้องมีการกระทุ้งคอนกรีตให้แน่นอย่างเต็มที่ บ่มคอนกรีตทันทีที่สามารถบ่มได้ ทำการบ่มคอนกรีตอย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้คอนกรีตมีกำลังเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างเต็มที่ การบ่มคอนกรีตยิ่งนาน ยิ่งทำให้กำลังของคอนกรีตมีค่าสูงขึ้น
6. หลีกเลี่ยงหรือขจัดหรือลดสภาวะที่ทำให้คอนกรีตเสียหายอย่างรวดเร็ว เช่น การสัมผัสกับน้ำกร่อย น้ำทะเล สารละลายกรด สารละลายซัลเฟต การกระแทกของคลื่น และอื่นๆ เพื่อลดหรือชะลอการกัดกร่อนให้เกิดขึ้นน้อยหรือช้าที่สุด
สภาพของบ้านพักอาศัยเมื่อใช้งานไปหลายปี จะดูทรุดโทรมมาก หากใช้คอนกรีตกำลังค่อนข้างต่ำ
บทความนี้เป็นความเห็นและแนวคิดของผม ซึ่งอาจมีผู้รู้เรื่องเกี่ยวกับคอนกรีตโต้แย้งในบางประเด็น ซึ่งผมขอเรียนให้ทราบว่าเป็นแนวคิดของผมเท่านั้น และเป็นแนวคิดที่ผมจะใช้ในการดำเนินงานเพื่อปลูกบ้านของผมเอง ส่วนผู้อ่านท่านใดสนใจจะนำข้อแนะนำหรือแนวคิดข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายๆ ข้อ ไปประยุกต์ใช้งาน ผมเชื่อว่าจะทำให้บ้านพักมีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แม้ว่าจะต้องเพิ่มเงินค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น แต่น่าจะคุ้มค่าแน่นอนครับ
บทความงานคอนกรีต อื่นคุณอาจสนใจ

บทความงานคอนกรีต
คอนกรีตผสมเสร็จ CPAC ดีกว่าผสมมือเองอย่างไร

บทความงานคอนกรีต
ถอดแบบคอนกรีต ใช้เวลากี่วัน?

บทความงานคอนกรีต
ก่อสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซมบ้าน เลือกใช้คอนกรีตอย่างไรดี

บทความงานคอนกรีต
ก่อสร้างเรื่องเล็ก เมื่อคำนวณสเปคด้วย BIM

บทความงานคอนกรีต
"CPAC เท ปาด ขัด" เพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้บ้านสวย

บทความงานคอนกรีต
คอนกรีตไหลลื่นสูง ไม่ต้องเติมน้ำเพิ่ม CPAC Super PLUS
เรื่องน่ารู้งานคอนกรีตที่คุณอาจสนใจ

บทความทั้งหมด
"เท ปาด ขัด" บ้านไม่เลอะ เก็บหน้างานเรียบร้อย

บทความทั้งหมด
คุณพร้อมโทร เราพร้อมเท ไม่ต้องเตรียมหน้างาน..."CPAC เท ปาด ขัด"

บทความทั้งหมด
"จี้เขย่า" สำคัญกับการเทคอนกรีตอย่างไร?

บริการ CPAC
ALLRENT เฟ้นหาให้ ตอบโจทย์ โดนใจ ผู้เช่าใช้เครื่องจักร
